วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รีวิวเรื่อง ULEM (2)

    ตอนที่แล้วได้เกริ่นนำเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับ ULEM  ตั้งใจว่าตอนที่สองนี้จะเขียนถึงประสบการณ์การทดสอบ ทดลอง ตั้งแต่วันแรกที่ผมรู้จัด ULEM จนกระทั่งมีการออกแบบและผลิตอุปกรณ์เสริมหลากหลายรุ่น หลายรูปแบบ แต่เนื่องจากมีผู้สนใจหลายคนขอรายละเอียดเรื่องราคาอุปกรณ์ในระบบ ตอนที่สองนี้จึงขอนำเสนอเรื่องดังกล่าวเสียก่อน  ความจริงท่าน Post ถามกันเป็นส่วนตัวทาง Chat box ใน Facebook เป็นส่วนใหญ่ แต่เพื่อให้ได้รับรู้กันในวงกว้างและจะไม่ต้องเสียเวลาตอบหลายครั้งจึงขอตอบผ่านบันทึกนี้นะครับ

    ก่อนอื่นขอแจ้งให้ทราบก่อนว่า วัสดุอุปกรณ์ในระบบ ULEM นั้นมีทั้งที่สั่งจาก "บ้านเห็ด" ของอ.ทวียศ ศรีสกุลเมฆีที่กรุงเทพ  และอุปกรณ์เสริม อุปกรณ์ควบคุมรุ่นต่างๆที่ผมออกแบบผลิตขึ้นเอง แต่เดิมมานั้นผมจำเป็นต้องจำหน่ายในราคาสูงกว่าที่กรุงเทพเล็กน้อยเพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอันเนื่องจากการขนส่งและการ Stock สินค้า  แต่ปัจจุบันนี้มีข่าวดีจะแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า "บ้านเห็ดศรีวิชัย" ของผมเป็นพันธมิตรเครือข่ายกับ "บ้านเห็ด" ของอ.ทวียศ เราต่างเข้าใจและสนับสนุน ส่งเสริมกันและกัน มีผลให้ผมสามารถจำหน่ายสินค้าทุกรายการของบ้านเห็ดกรุงเทพฯ ด้วยราคามาตรฐานเดียวกับที่กรุงเทพฯ โดยไม่มีการบวกเพิ่มแม้แต่บาทเดียว ต้องขอขอบคุณอ.ทวียศ ศรีสกุลเมฆีไว้ตรงนี้เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ให้ความไว้วางใจและสนับสนุนงานของผมอย่างเต็มที่

   ราคามาตรฐานของอุปกรณ์มีดังนี้ครับ

1. ULEM ชุดประกอบเอง มีชิ้นส่วนครบพร้อมประกอบใช้งานได้เลย   ชุดละ  300.- บาท


2. ULEM ชุดสำเร็จรูป ประกอบเสร็จ ขนาดกระทัดรัด สวยงาม ใช้งานได้ทันที ชุดละ  370.- บาท



3. กล่องควบคุมและจ่ายกำลังไฟฟ้าขนาดเล็ก ใช้กับ ULEM 1 ตัว  ชุดละ 1600.- บาท


4. กล่องควบคุมและจ่ายกำลังไฟฟ้าขนาดกลาง ใช้ได้กับ ULEM 7 ตัว  ชุดละ 3000.- บาท


5. วาล์วน้ำไฟฟ้า (E-Valve) สำหรับควบคุมน้ำเข้าระบบ ULEM  ตัวละ 650.- บาท



6. เครื่องสูบน้ำ ขนาด 3000 ลิตร/ชม. ยกน้ำสูง 2.50 เมตร กินไฟ 60 w. เครื่องละ  550.- บาท 


7. เครื่องตัังเวลาดิจิตอลชนิด 8 โปรแกรม (Digital Timer Switch)  ชุดละ  500 บาท


8. เครื่องตั้งเวลาแบบกลไก (Analog Timer Switch) ชุดละ  400 บาท


9. ชุด ULEM รุ่นประหยัดครบชุดและใช้ง่ายที่สุด รุ่น Chaiya-02-1 ชุดละ 2000.- บาท


10. ตัวมอเตอร์พร้อมแกนทองเหลือง ตัวละ 150.- บาท  จาน ULEM ชิ้นละ 60.- บาท



    ยังมีอีกหลายรายการ สามารถติดต่อสั่งทำได้ รายละเอียดสอบถามเพิ่มเติมได้ครับ ท้ายบันทึกนี้ ทางหน้า Facebook หรือทางโทรศัพท์ก็ได้ครับ

วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รีวิวเรื่อง ULEM (1)

  เนื่องจากมีผู้สนใจสอบถามมามากเรื่อง ULEM และชุดอุปกรณ์ประกอบในระบบ ตลอดจนประโยชน์ใช้สอยในลักษณะต่างๆ  แม้ผมจะเคยเขียนเล่าไว้ในที่ต่างๆแต่ก็กระจัดกระจายไม่เป็นกลุ่มก้อน วันนี้จึงคิดว่าจะนำเสนอแง่มุมต่างๆให้ต่อเนื่องกันไป ตั้งแต่ความเป็นมา การติดตั้ง ข้อควรระวัง แนวทางการประยุกต์ใช้ และปิดท้ายด้วย ชุดอุปกรณ์แบบและขนาดต่างๆพร้อมราคา เพื่อว่าผู้ที่สนใจจะได้ตัดสินใจเลือกซื้อหาได้ตามความเหมาะสมกับขนาดและลักษณะงานของตนครับ

  ขอเริ่มด้วยความเป็นมาก่อนนะครับ !





 ULEM (Ultra Low Energy Mist) คิดค้นโดย รศ.ดร.ปองวิทย์  ศิริโพธิ์  หัวหน้าคณะวิจัยและคณะหน่วยวิจัยการประยุกต์การใช้ยานที่เบากว่าอากาศ ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์
              ยูเล็มหรืออุปกรณ์กระจายน้ำฝอย  สามารถทำฝอยน้ำที่ละเอียดมากๆ เพื่อลดอุณหภูมิในอากาศและเพิ่มความชื้นในพื้นที่ใช้งาน  สามารถปรับใช้งานได้หลายลักษณะ และวัตถุประสงค์
                 รายละเอียด
ยูเล็มสามารถใช้งานได้ในทุกสภาพแวดล้อม  ประหยัดน้ำ และใช้พลังงานต่ำ  ยูเล็มจะทำหมอกน้ำที่ละเอียดถึง 10 ไมครอน ทำให้ยูเล็มใช้น้ำน้อยมากและทำให้พื้นที่ใช้งานชุ่มฉ่ำตลอดเวลา  ยูเล็มสามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายประเภท เช่น ด้านอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรมหภาค  ภาคการเกษตรขนาดกลางและเล็ก ใช้งานในบ้าน สวนสาธารณะ ฟาร์มปิดขนาดต่างๆ เป็นต้
   ประโยชน์ใช้งาน
ยูเล็มถูกออกแบบมาเพื่อให้ติดตั้งง่ายและสะดวกต่อการใช้งานในรูปแบบที่หลากหลาย โดยขึ้นอยู่กับองค์ประกอบและสภาพแวดล้อมรอบๆสถานที่ เช่น ปริมาณน้ำหรือแม้แต่พื้นที่ๆ จำกัด
ยูเล็มลดความร้อนและเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศและสถานที่ๆ ใช้   ลดความเครียดของสัตว์ในฟาร์มปิดต่างๆ เช่นฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู ทำให้ผลผลิตที่ได้ทำได้ดีขึ้น   สามารถปรับการใช้งานเพื่อให้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงในแปลงผักต่างๆ    ใช้งานได้ดีกับแปลงอนุบาลกล้าไม้ ทำให้กล้าไม้ชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา และลดการสูญเสียน้ำทางใบของกล้าไม้
.... เพื่อไม่ให้ยืดยาวเกินไป ขอจบตอนแรกไว้แค่นี้ก่อนนะครับ ตอนต่อไปจะเล่าถึงประสบการณ์ตรงที่ผมลงคลุกคลีกับ ULEM และการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นครับ

 


วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

ทำไม "บ้านเห็ด" ทำไม "ศรีวิชัย"



สวัสดีครับ

    บันทึกนี้เป็นบันทึกแรกที่ทดลองเขียน หลังจากทดลองสร้าง Blog ที่ Blogspot แห่งนี้ ในเบื้องแรกนี้จะขอเล่าที่มาที่ไปของ "บ้านเห็ดศรีวิชัย" โดยสังเขป เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันนะครับ
    เมื่อผมอพยพออกจากกรุงเทพฯไปอยู่บ้านเกิดที่ไชยา หลังจากใช้ชีวิต ทำหน้าที่การงาน สั่งสมประสบการณ์อยู่ในเมืองหลวงกว่า 30 ปี มีเรื่องชวนให้คิดและทำมากมายครับ
    แม้ชีวิตส่วนตัวผมเหมือนถูกโจรปล้น 2 ครั้ง และแถมด้วยไฟไหม้บ้านอีกหนึ่งครั้ง จนไม่มีอะไรเหลือในทางวัตถุ แต่ผมก็ออกจากกรุงเทพฯไปด้วยรอยยิ้ม ไม่ได้อาลัยในอดีต หรือวิตกกังวลต่ออนาคต ยังคิดอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไรให้ชีวิตที่เหลือนั้น "อยู่อย่างเย็น และ เป็นประโยชน์" ให้ได้มากๆ หากจะทำอะไรเพียงเพื่อตัวเอง ก็คงไม่ต้องวุ่นวายอะไรมาก เพราะผมอยู่ง่าย กินง่าย และมีความรู้ มีทักษะในการทำงานหลายๆด้าน เพียงพอที่จะไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีอยู่มีกิน  แต่การมีกิน มีใช้อย่างสะดวกสบาย ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของชีวิตนี่ครับ ผมก็เลยมีเรื่องให้คิดให้ทำไม่รู้จักจบ ยิ่งเห็นผู้คนในสังคมหลงทางกันมากๆ ก็ยิ่งมีเรื่องให้คิดว่าจะเข้าไปอยู่ตรงไหน เพื่อช่วยอะไรได้บ้าง แรกๆจึงไม่ปฏิเสธเมื่อใครเชิญชวนให้เป็นที่ปรึกษา เป็นวิทยากรไปบรรยาย-จัดฝึกอบรม หรือเข้าร่วมกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ โรงเรียน วัด ศูนย์เรียนรู้ของชุมชน ชมรมพุทธศาสน์ ชมรมครูและบุคลากรทางการศึกษาอาวุโส เป็นต้น  แต่หลายจุดที่ได้เข้าไปสัมผัส พบว่าระบบคิดแบบเดิมยังมีอยู่เหนียวแน่น ยากแก่การรื้อถอน หรือปรับเปลี่ยน จึงต้องถอยห่างออกมาเพื่อจะได้ไม่ต้องไปเปลืองแรง เปลืองเวลาโดยไม่เกิดประโยชน์ ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ความถูกต้อง ผิดพลาดกันไปก่อน
     สิ่งที่ผมมองเห็นชัดเจนโดยเฉพาะในสังคมคนภาคใต้ก็คือ "การร่ำรวยรวดเร็วอย่างน่าเป็นห่วง" ผ่านการทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติ คือป่าเขา ดิน และน้ำ พืชเศรษฐกิจสองชนิดที่มารุกไล่ทุกสิ่งทุกอย่างออกไปก็คือ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เพราะเป็นพืชทำเงินให้กับผู้คนจำนวนมากมาย เมื่อเงินมาง่าย อะไรๆก็ง่ายไปหมด ง่ายจนมีความ "มักง่าย" เข้ามาสู่แต่ละชีวิตและครอบครัวโดยไม่รู้ตัว คนใช้เงินแบบฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยมีให้เห็นทั่วไป เมื่อใส่ทองเส้นใหญ่ๆแล้วยังไม่พอก็แข่งกันสร้างบ้านเรือนใหญ่โตราวคฤหาสน์ โดยไม่สนใจว่าเหมาะกับชีวิตความเป็นอยู่ของตนหรือไม่ การพนันและยาเสพติดมีแพร่หลายมาก การออกแรงทำอะไรให้ต้องเสียเหงื่อดูจะเป็นเรื่อง "ควรละเว้น" แม้กระทั่งการปลูกพืชผักสวนครัวกิน มักจะมาลงตรงที่ "ซื้อเอาสะดวกกว่า" ทั้งๆที่พืชผักที่ซื้อหามานั้นล้วนเคลือบพิษมาให้ด้วยเป็นส่วนมาก
   ด้านเด็กๆเยาวชนนั้นเล่าก็ "สบายเสียจนน่าสงสาร"  พ่อแม่สร้างสวนยาง สวนปาล์ม ขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ โดยใช้แรงงานมอญ-พม่าเป็นผู้ทำ ส่วนลูกหลานส่วนมากทำหน้าที่ "ผลาญเงินแข่งกัน" รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ป้ายแดงแน่นขนัดไปทุกครั้งที่มีงานเช่นงานบุญงานบวช โทรศัพท์มือถือและเครื่องมือสื่อสารยุคใหม่ราคาแพงแพร่ไปสู่เยาวชนง่ายและเร็วอย่างน่าตกใจ สรุปรวมว่าพวกเขาต่างตั้งอยู่ในความประมาทอย่างน่าเป็นห่วงยิ่งนัก
   ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ผมจึงกระเสือกกระสนเพื่อทำอะไรบางอย่าง เพื่อจุดประกายให้คนหันมามอง และเริ่มคิดอะไรใหม่ๆกันบ้าง โดยมีเป้าหมายที่ครู นักเรียนและชาวบ้านทั่วๆไป  ผมรู้ว่าอีกไม่นาน ความเดือดร้อนมากมายจะมาถึงผู้คนที่ตั้งอยู่ในความประมาทเหล่านั้น เนื่องจากพวกเขาเป็น "นักเสวยผล" โดยไม่รู้จักการ "สร้างเหตุ" ที่ถูกต้อง คู่ควร ทั้งเรื่องอาหารที่สะอาดปลอดภัย และการขาดแคลนพลังงาน จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่พูดอย่างไรก็เห็นมีแต่คนฟังและพยักหน้า แต่มองหาการกระทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นแสนยากเย็น นั่นคือที่มาของความคิดการทำ "ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองด้านอาหารและพลังงาน" ที่ผมถลำตัวด้วยการยืมเงินพี่สาว 1.2 ล้านบาทซื้อที่นาเก่าขนาด 3 ไร่ 1 แปลงไปเรียบร้อยแล้ว โดยมุ่งมั่นจะทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองให้ได้มากที่สุดไปตามลำดับ ขณะเดียวกันก็จะเป็นแหล่งแสดงให้เห็นความพยายามในการนำพลังงานธรรมชาติเช่นแสงแดดและแรงลมมาใช้ให้มากที่สุด เพื่อการพึ่งตนเองให้ได้ทั้งเรื่องอาหารและพลังงาน พร้อมๆกันนั้นเราจะปลูกไม้ยืนต้นที่หลากหลาย เพื่อเรียกป่ากลับคืนมาเท่าที่จะทำได้ในที่แคบๆแปลงนั้น
   พูดถึงเรื่องอาหาร การเพาะเลี้ยงเห็ด เป็นเรื่องที่ผมสนใจใคร่รู้มานาน แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ จนกระทั่งมีกัลยาณมิตรคือคุณตฤณ  ตัณฑเศรษฐี ลงทุนซื้อุปกรณ์ชุด ULEM และขับรถพาผมไปที่สวนป่า มหาชีวาลัยอีสานของครูบาสุทธินันท์ เพื่อให้ศึกษาและทดลองติดตั้ง ทำให้ผมได้รู้จัก ULEM เป็นครั้งแรก และได้คิดดัดแปลงพัฒนาระบบควบคุมและจ่ายพลังงานให้ ULEM หลายรุ่น หลายแบบในเวลาต่อมา ผมเผยแพร่แบ่งปันความรู้และผลงานไปสู่บุคคลในเครือข่ายมา 3-4 ปี ก็ยังเป็นที่สนใจมาอย่างต่อเนื่อง ULEM ทำให้ผมได้รู้จักและพูดคุยกับท่าน รศ.ดร.ปองวิทย์ ศิริโพธิ์ ผู้คิดค้น ULEM ได้สัมผัสความดีงาม ความน่าเคารพศรัทธาในตัวท่านอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ ULEM ยังชักนำให้ผมได้รู้จัก อ.ทวียศ ศรีสกุลเมฆี ที่ทำหน้าที่ค้นคว้าพัฒนา ULEM อย่างชนิด "กัดไม่ปล่อย"
   การประยุกต์ใช้ ULEM ที่อ.ทวียศทำ และโดนใจผมที่สุดก็คือการใช้ในโรงเพาะเลี้ยงเห็ดแบบอัตโนมัติ ซึ่งอาจารย์ทำมาจนเป็นเจ้าพ่อเรื่องเห็ดไปแล้วในปัจจุบัน  ด้วยเหตุดังกล่าวเมื่อมีการเชิญชวนไปร่วมงานวันเปิดศูนย์เรียนรู้บ้านเห็ดที่บางขุนเทียน ผมจึงตัดสินใจขับรถไปเองจากไชยา ระยะทางกว่า 600 กม. เพื่อร่วมงานดังกล่าวทั้งๆที่ผมกับอ.ทวียศยังไม่เคยพบกันมาก่อนเลย ซึ่งผมก็ได้พบท่านอาจารย์ปองวิทย์และคุณแม่ของท่านด้วยในวันเดียวกัน
   ผมตั้งใจมั่นว่าจะนำความรู้ ความจริงเรื่อง "บ้านเห็ด" ของอ.ทวียศ ไปเผยแพร่เพื่อขยายผลให้ได้ แต่ก็ใช้เวลามาค่อนข้างนาน เหตุเพราะผมต้องทำอะไรอีกหลายอย่างทั้งเรื่องส่วนตัวและประเภท "คุณขอมา" จนมาถึงวันนี้ผมเห็นว่าเรื่อง "โรงเห็ดอัตโนมัติ" และอีกหลายๆเรื่องของอ.ทวียศ แห่งศูนย์การเรียนรู้บ้านเห็ด เป็นสิ่งที่ผมไม่จับไม่ได้แล้ว โดยมุ่งที่จะลองทำเอง แสดงให้ผู้คนเห็น และชักชวนให้เขาลองทำ ขยายวงไปเรื่อยๆ  ผมเชื่อว่าเมื่อทำเรื่องเห็ด นอกจากคนทำจะได้อาหาร ได้เงินแล้ว ของแถมที่มีค่ามากอย่างหนึ่งก็คือ การพัฒนาคน นั่นคือลูกหลานเราจะได้มีเรื่องดีๆทำ ได้เรียนรู้ธรรมชาติ ได้ความภาคภูมิใจ ได้เป็นนักสังเกต รู้จักการอดทนรอคอย เป็นคนรักการเรียนรู้ ฯลฯ โดยสามารถปลีกตัวออกมาจากการไม่ลืมหูลืมตา เล่นแต่เกมส์ทั้งวัน หรือหมกมุ่นอยู่กับเรื่องไร้สาระอื่นๆ
    ด้วยความคิดความเชื่อดังกล่าวมาทั้งหมด ผมจึงขอมี "บ้านเห็ด" ด้วยอีกคน และโดยที่เมืองไชยานั้นเชื่อกันว่าเคยเป็นศูนย์กลางแห่งความรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ครั้งยังเป็นอาณาจักรศรีวิชัย หลายท่านยังเรียกไชยาว่า "ศรีวิชัย" บ้านเห็ดของผมจึงกลายเป็น "บ้านเห็ดศรีวิชัย" ด้วยประการฉะนี้

                                                                                         สวัสดีครับ
                                                                                             พินิจ
                                                                                           22/4/56